งบกำไรขาดทุน งบดุล และงบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้น

ก่อนอื่น นักศึกษาต้องสามารถแยกรายการให้ได้ก่อนนะคะว่า รายการไหนอยู่หมวดบัญชีไหน ตามที่ครูสอน เลข 1 -5 แทนสินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายได้ ค่าใช้จ่ายยังไงค่ะ จากนั้นค่อยแยกออกมา เป็น

งบกำไรขาดทุน เป็นงบที่แสดงถึงผลการดำเนินงานว่ามีกำไรขาดทุนค่ะ แปลว่า ต้องมีหมวดบัญชีมาแสดงในงบนี้ เพียง 2 หมวดเท่านั้น คือ รายได้  และ ค่าใช้จ่าย ก็เอาหมวดเลข (4) ลบกับ หมวดเลข (5) ค่ะ ถ้า 4>5 แปลว่า มีกำไร แต่…… ถ้า 4<5 ก็แปลว่าขาดทุนไงจ๊ะ  ทีนี้มาต่อกันอีก

งบดุล  เป็นงบที่แสดงฐานะทางการเงินบอกว่าเราร่ำรวย มีเงินมีทอง หรือเป็นหนี้สินคนอื่น หรือมีเงินลงทุนมาก นั่นก็แปลว่า ต้องเอาหมวดบัญชีที่เหลืออีก 3 หมวด คือสินทรัพย์ หนี้สิน และทุน มาแล้วจัดการจัดกลุ่มให้ถูกต้อง อะไรเป็นสินทรัพย์ (1)ก็อยู่ด้วยกัน อะไรเป็นหนี้สิน (2) ก็อยู่ด้วยกัน อะไรเป็นทุน (3) ก็อยู่ด้วยกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อรวมสินทรัพย์แล้ว จะต้องมีตัวเลขที่เท่ากับ หนี้สินและทุนรวมกันนะคะ แปลว่า  1 = 2+3 นั่นเองค่ะ    ยังไม่หมดใช่ไหม ยังมีอีกหนึ่งงบที่ต้องทำนี่นา

งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้น  เป็นเพียงการแสดงในหมวดที่ 3 เท่านั้นค่ะ คือเริ่มต้นจากเงินลงทุนก่อน จากนั้นก็คิดต่อว่า อะไรจะทำให้เงินลงทุนเราเพิ่มได้บ้าง แล้วอะไรจะทำให้เงินลงทุนลดลงได้บ้าง ง่าย ๆ ค่ะ ถ้าคุณเงินตัวเองไปลงทุนทำธุรกิจ แล้วเกิดกำไร ก็แปลว่าเงินลงทุนคุณจะมีมากขึ้น (เอากำไรไปบวกเงินลงทุนนั่นแหละ) แต่ถ้าขาดทุน เงินลงทุนจะลดหรือหายไปหรือเปล่าค่ะ แน่นอนว่า ต้องหายไป (เอาขาดทุนไปลบ) อย่างไรก็ตาม เวลาที่เราจะไปลงทุนทำอะไรเราคงคาดหวังว่าจะต้องได้อะไรที่มากกว่ากำไรอยู่แล้วค่ะ  ซึ่งครูก็เรียกว่า “เงินปันผล” ที่จะได้รับจากธุรกิจ หรือธุรกิจจ่ายให้เราในฐานะผู้ลงทุน เมื่อธุรกิจจ่ายเงินปันผล ก็จะทำให้เงินลงทุนของธุรกิจลดลงค่ะ แปลว่า เงินปันผลต้องเอาไปลบนั่นเอง จึงจะทำให้เราว่า ณ ปัจจุบันนี้ สถานะของเงินลงทุนในธุรกิจเหลือเท่าไหร่นั่นเองค่ะ

 

มีคำถามเกี่ยวกับ “ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า”

นักศึกษาคะ  “ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า” อันนี้ ยกตัวอย่างใกล้ ๆ ตัวแล้วกันค่ะ สมมติว่า นักศึกษาต้องใช้บริการอะไรสักอย่าง เช่น เช่าหอพัก ส่วนใหญ่ครูทราบว่าจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้เจ้าของหอใช่ไหมคะ ทีนี้ เงินที่คุณจ่ายไป แปลว่าทำให้คุณได้สิทธิ์ที่จะอยู่ในหอพักได้ต่อไป จึงเข้านิยามของคำว่า “สินทรัพย์” ค่ะ เพราะว่า ตัวเงินที่คุณจ่ายไป ทำให้คุณได้ประโยชน์ต่อไปในอนาคตนั่นเองค่ะ  ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า มีได้หลายอย่างค่ะ เช่น ค่าเบี้ยประกันจ่ายล่วงหน้า ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า เป็นต้น

Home Work บช111 Sec 5-6

นักศึกษาที่เรียนบัญชีขั้นต้นกับครู อย่าลืมทำการบ้านบทที่ 1 ด้วยนะคะ ข้อ 3-5-7-9-11 กำหนดส่งวันจันทร์หน้าค่ะ  ท่องเอาไว้ คะแนนจงมา คะแนนจงมา คะแนนจงมา เพี้ยง  >.<!!!!

บทที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบัญชี

บทที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบัญชีนักศึกษาสาขาการจัดการ สามารถ Download Powerpoint บทที่ 1 ได้แล้วค่ะ เตรียมอ่านมาล่วงหน้าได้เลยค่ะ วันจันทร์ค่อยมารับหนังสือนะคะ